แบตเตอรี่ ขั้วลอย vs. ขั้วจม ต่างกันอย่างไร

บทความ

แม้ว่าทั้งสองชนิดจะทำหน้าที่เหมือนกัน คือ จ่ายกระแสไฟและให้กำลังสตาร์ทแก่รถยนต์ แต่ก็มีความแตกต่างกันมากพอสมควร อาจแบ่งความแตกต่างได้ดังนี้

“ระดับความสูงขั้วแบตเตอรี่” โดยตำแหน่งขั้วของแบตเตอรี่ขั้วลอยจะอยู่สูง เหนือกว่าระดับฝาแบตเตอรี่ชัดเจน ส่วนแบตฯขั้วจม ความสูงขั้วจะไม่สูงเกินระดับฝา เหตุเพราะส่วนใหญ่รถที่ใช้แบตเตอรี่ประเภทขั้วจมจะมีพื้นที่สำหรับติดตั้งแบตเตอรี่ค่อนข้างจำกัด

“ขนาดแบตเตอรี่” แบตเตอรี่ขั้วลอย ทั่วๆ ไปจะกำหนดวิธีเรียกขนาดด้วยความยาวของลูกแบตฯ เช่น ขนาด B19, B24, D23, D26, D31 เป็นต้น ส่วนแบตเตอรี่ขั้วจม จะถูกเรียกเรียงตามขนาดเล็กไปใหญ่ เช่น L1 ถึง L6 หรือ LN1 ถึง LN6 เป็นต้น บางทีอาจพบเห็นขนาด LB ขึ้นต้น เช่น LB1, LB2, LB3, LB4 ให้เราทราบว่าเป็นแบตฯ ขั้วจม แบบฝาเตี้ย โดยความสูงรวมจะต่ำกว่าแบตเตอรี่ขั้วจมแบบมาตรฐาน ซึ่งผลิตมาเพื่อใช้เฉพาะกับรถยนต์บางรุ่นเท่านั้น

“กำลังการสตาร์ท” หรือ ค่า CCA โดยปกติแบตเตอรี่ขั้วจมจะมีความสามารถให้กำลังสตาร์ทได้สูงกว่าแบตฯ ขั้วลอย ซึ่งส่วนใหญ่ แบตเตอรี่ขั้วจมจะถูกติดตั้งอยู่ในกลุ่มรถยุโรปหรือรถญี่ปุ่นรุ่นใหม่ๆ ที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องการกำลังไฟมากๆ มารองรับการใช้งาน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการพิจารณาเลือกแบตเตอรี่มาใช้กับรถยนต์ของเรา ควรเลือกให้ “เหมาะสม” โดยอ้างอิงจากแบตเตอรี่ลูกแรกที่ติดรถยนต์มาจากโรงงานผู้ผลิต โดยเราสามารถอัพเกรดสเปก เพิ่มในส่วนของปริมาณแอมป์หรือค่า CCA ได้ แต่ไม่ควรเพิ่มขนาดลูกแบตเตอรี่ให้ใหญ่เกินไป เนื่องด้วยความลงตัวของลูกแบตฯ กับช่องที่ติดตั้งแบตฯ ไม่พอดีกัน อาจเกิดปัญหากับแบตเตอรี่ในขณะใช้งานได้ ซึ่งมีความอันตรายอยู่พอสมควร

อีกหนึ่งข้อห้ามเด็ดขาดในการเลือกใช้แบตเตอรี่รถยนต์ที่หลายท่านอาจไม่ทราบ คือ แบตเตอรี่ขั้วลอยและขั้วจม ไม่ควรถูกนำมาใช้ทดแทนกัน เช่น หากตามสเปกเดิมจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ ติดตั้งแบตฯ ขั้วจมมาให้ แต่เมื่อถึงเวลาเซอรืวิสแบตเตอรี่ ถ้าเปลี่ยนแบตฯ ขั้วลอยใส่ทดแทน อาจก่อให้เกิดปัญหาไฟช๊อตรุนแรงถึงขนาดทำให้เกิดไฟลุกไหม้ตามมาได้

ป้ายกำกับ
แชร์